คุณหมอนักวิ่ง เตือนอีกครั้งอาการ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก อันตรายกับนักกีฬาและประชาชน หากออกกำลังร้อนไป อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 มี.ค.66 “หมอแอร์” นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ ซึ่งเป็น “คุณหมอนักวิ่ง” แชร์บทความที่ตัวเองเคยลงไว้เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ในเฟซบุ๊ก Akanis Srisukwattana ถึงเรื่องอันตรายจากฮีทสโตรก
Heat Stroke (ฮีทสโตก) สำหรับนักกีฬาและประชาชน
ออกกำลังร้อนไป อันตรายถึงชีวิตได้!
ผมเพิ่งได้รับทราบว่า มีนักกีฬาต่างประเทศท่านหนึ่ง มาแข่งวิ่งเทรลเมืองไทย แล้วเกิด Heat Stroke จน Coma (เหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว) เลยคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัว และอันตรายมาก จึงอยากให้ประชาชนทั่วไป และคนที่ออกกำลังกลางแจ้ง ทำความเข้าใจ Heat Stroke จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดครับ
1 Heat Stroke คืออะไร
คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว กับความร้อนที่สูงมากขึ้นได้ ทำให้อุณหภูมิทั่วร่างกายสูง เกิน 40.5 C จนระบบการทำงานต่างๆ เสียไป โดยเฉพาะที่สมอง ทำให้เกิดอาการคล้าย หลอดเลือดสมอง (stroke) คือ ซึม อ่อนแรง ชักเกร็ง แต่ไม่ได้มีความผิดปกติจากหลอดเลือด โดยตรง เป็นผลเกิดจากความร้อนที่มากเกินไป ทำให้สมองทำงานผิดปกติ เลยเรียกว่า Heat Stroke
นอกจากนี้ ความร้อน ยังไปทำลาย ระบบต่างๆ ได้มากมาย อาทิ กล้ามเนื้อ เกิดภาวะกล้ามเนื้อแตกสลาย จนไตวายได้
2 Heat Stroke เกิดจากอะไร
ความร้อนในร่างกายมาจาก ปัจจัยภายใน และ ภายนอก
ภายใน ได้แก่ การออกกำลังที่หนัก ร่างกายจะร้อนขึ้น ส่วนภายนอกได้แก่ อากาศ แสงแดด Heat Wave ต่างๆ
ปกติเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น สมองส่วน Hypothalamus จะกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เราเหงื่อออก และ เลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น ทำให้เราระบายความร้อนผ่านทางการระเหยของเหงื่อที่ผิวหนัง ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง
แต่เมื่อสมดุลตรงนี้เสียไป เช่น อากาศร้อนมากๆ พร้อมออกกำลังหนักมาก เป็นเวลานาน หรือ การระบายความร้อนที่ทำได้ลดลง เช่น อากาศมีความชื้นสูง ทำให้การระบายเหงื่อพาความร้อนไปในอากาศเกิดลดลง
ภาพรวมทำให้ สมดุลของการระบายความร้อนทำได้ไม่ดี จึงนำไปสู่อุณหภูมิร่างกายที่ค่อยๆสูงขึ้น จนสูงมากและเกิด Heat Stroke ในที่สุด
กลุ่ม Heat Stroke ที่เกิดจากการออกกำลัง ออกแรง ฝึกทหาร และระบายความร้อนไม่ทัน เราเรียกกลุ่มนี้ว่า Exertional heat stroke
3 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด Heat Stroke ง่ายขึ้น มาจาก
การออกกำลังที่หนักในที่อากาศร้อนนานๆ, อากาศที่ร้อนมาก โดยเฉพาะการเกิด Heat Wave, การไม่ชินสภาวะ อากาศร้อน หรือมีอากาศเปลี่ยนแปลงฉับพลัน, อากาศที่ชื้นมาก เกิน 75% จนทำให้การระบายเหงื่อยากขึ้น
ดื่มน้ำไม่พอ ร่างกายขาดน้ำ
ดื่ม เครื่องดื่ม ที่มี คาเฟอีน และ Alcohol ทำให้ร่างกายเสียน้ำจากปัสสาวะมากกว่าปกติ
ใส่เสื้อผ้าที่หนาและไม่ระบายอากาศ
4 อาการของ Heat Stroke ที่เราต้องสังเกต
ปวดศีรษะ ขณะออกกำลัง, HR (ฮาร์ตเรต-จังหวะการเต้นของหัวใจ) ไม่ลง แม้ เบาการออกกำลังลง, คลื่นไส้ อาเจียน, ผิวหนังแดง ร้อน แห้ง บางรายอาจมีเหงื่อได้, เป็นตะคริวตามกล้ามเนื้อ หลายๆ ที่, หน้ามืด เป็นลม, ถ้าเป็นหนัก จะเริ่มมีอาการทางสมอง เบลอ พูดจาสับสน ชักเกร็ง หมดสติ
ดังนั้น ถ้าเริ่มมีอาการปวดหัว HR สูงแปลกๆ กว่าที่เคย คลื่นไส้ อาเจียน ขณะออกกำลัง ให้สงสัยว่า เราอาจเริ่มมีอาการของ Heat Stroke ได้ ให้หยุดออกกำลังทันที และรีบทำให้ร่างกายเย็นลง แจ้งเพื่อนๆ ที่ไปด้วยกันทันที
5 เราสามารถป้องกัน และลดการเกิดได้อย่างไร
ตรงไปตรงมา หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก เวลาที่อากาศร้อนจัด เช่นเลือกเวลาออกกำลังกายตอน เช้า และเย็น
ดูอุณหภูมิก่อนออกกำลังกาย ถ้าเกิน 38 องศาเซลเซียส ควรหลีกเลี่ยง หรือต้องเตรียมตัวให้พร้อม
ถ้าจำเป็นต้องฝึกซ้อม เพื่อให้ร่างกายทนความร้อน ต้องค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อฝึกให้ร่างกายปรับตัว
ดื่มน้ำให้เพียงพอ พรมน้ำตามร่างกายเป็นระยะๆ เอาแค่พอประมาณ ไม่เปียกโชก สามารถลดอุณหภูมิได้ ไม่ควรฝึกอดน้ำ หรือกินน้ำน้อยๆ ระหว่างแข่งหรือซ้อม
สวม เสื้อ กางเกง ที่ระบายอากาศ ระบายความร้อนได้ดี
6 ข้อแนะนำการดื่มน้ำในวันที่อากาศร้อนมาก
แนะนำให้ดื่มน้ำ 700 ml ก่อนออกกำลัง 2 ชั่วโมง ค่อยๆ ดื่มเรื่อยๆ และพิจารณาดื่ม Sports Drink ประมาณ 250 ml แทนน้ำเปล่าบางส่วน
ทุก 20 นาทีของการออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำอย่างน้อย ประมาณ 250 ml สลับกับเกลือแร่
สังเกตสีปัสสาวะคร่าวๆ ว่าเรากินน้ำพอไหม ถ้าเข้มมาก แสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำ
7 เมื่อพบ คนที่สงสัยเป็น Heat Stroke ต้องทำยังไงคำพูดจาก สล็อต
Heat Stroke เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ทุกนาทีมีค่า ไม่แพ้ โรคหัวใจ โทรเรียก รถพยาบาลและต้องรีบ ทำให้อุณหภูมิคนที่เป็น ลดลงสู่ระดับปกติ อย่างเร็วที่สุด
พาไปที่ๆ อากาศเย็น เพื่อลดอุณหภูมิ แช่น้ำเย็น หรือ หาน้ำแข็ง มาประคบตามตัวตาม ขาหนีบ รักแร้ คอ หลัง เพื่อลดอุณหภูมิกาย ลดความเสียหายระบบต่างๆ ในร่างกาย ที่เกิดจากความร้อน จนกว่าจะนำส่ง รพ. ตรงนี้ช่วยได้มากๆ อย่ารอเฉยๆ นะครับ
สุดท้าย
ช่วงนี้หน้าร้อนแล้ว เรายังสามารถออกกำลังกลางแจ้งได้รวมถึงแข่งกีฬา แต่ต้องเพิ่มความระวังในการออกกำลังกายที่หนักในวันที่อากาศร้อน และความชื้นสูง ต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ ขณะออกกำลังกาย
ทุกงานแข่ง นอกจากรู้ระยะทาง เส้นทางแข่งแล้ว เราต้องรู้ อุณหภูมิ และความชื้นวันแข่ง เพื่อปรับความหนักในการ ออกกำลัง วางแผนการกินน้ำ แข่งกีฬาอย่างเหมาะสม และรู้เท่าทันอาการเริ่มแรกของ Heat Stroke นะครับ
หมอแอร์
(ขอบคุณเฟซบุ๊ก Akanis Srisukwattana)
Cr.pic. : slate.com/supersports.co.th